เรื่องราว ศิลปหัตถกรรม ว่ามีที่มายังไง

ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสวยงามและจรรโลงใจ มนุษย์ได้สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาด้วยจินตนาการของตัวเองหรือจากแนวความคิดของผู้อื่น เช่น ภาพที่เขียนมาจากการอ่านจากวรรณคดีต่างๆ เป็นต้น
หัตถกรรม คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายในเรื่องประโยชน์สอย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมาโดยไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการทำด้วยฝีมือของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบจากสิ่งที่เห็นอยู่รอบตัว หรือสร้างขึ้นมาจากจินตนาการก็ตาม
เมื่อนำ 2 คำนี้มารวมกัน ‘ศิลปหัตถกรรม’ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย ต้องมีความสวยงาม โดยผู้สร้างจะต้องเป็นผู้มีความเข้าใจในเรื่องศิลปะและหัตถกรรมอย่างล้ำลึก มีการศึกษาในเรื่องของศิลปหัตถกรรมมาเป็นอย่างดีแล้ว จัดเป็นงานช่างอันทำด้วยมือหรืออุปกรณ์ง่ายๆ จากการใช้ทักษะส่วนตัว โดยทั่วไปจะเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมกับศาสนา ชิ้นงานต้องสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก หรือผลิตด้วยเครื่องจักร ไม่ถูกจัดว่าเป็นงานหัตถกรรม
ความเป็นมาของศิลปหัตถกรรมไทย
- ยุคทองแดง ศิลปะในยุคนี้นักโบราณคดีค้นพบในเขตบ้านหมอสอ ในปี พ.ศ. 2501 เป็นแห่งแรก มีทั้งหม้อ, ไห, ภาชนะที่ทำด้วยทองแดงมากมายหลากหลายชิ้น รวมถึงเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ, กำไลเท้า, แหวนทองแดง เป็นต้น
- ยุคโลหะผสม ยุคนี้จะเน้นผลงานขนาดใหญ่ ตอนค้นพบมีสภาพค่อนข้างบริบูรณ์ เช่น กลองมโหระทึก เป็นต้น
- ยุคเหล็ก ส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของ เครื่องมือเครื่องใช้ประจำวัน, อาวุธ, พระพุทธรูป รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผา
การแบ่งประเภทงานศิลปหัตถกรรมของไทย
สามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น…
- การจัดประเภทตามประโยชน์ใช้สอย เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน, เครื่องมือใช้กับอาชีพและอาวุธ, เครื่องใช้ต่างๆ, เครื่องนุ่งห่ม, ยานพาหนะ รวมทั้งวัตถุที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อส่วนบุคคล
- การจัดประเภทตามวัสดุและกรรมวิธีผลิต เช่น ปั้น – หล่อ, ทอ – เย็บปักถักร้อย, แกะสลัก, ก่อสร้าง, เขียน – วาด, จักสาน, ทำเครื่องกระดาษ รวมทั้งกรรมวิธีอื่นๆอีกมากมาย
- การจัดประเภทตามสถานภาพของช่าง เช่น ฝีมือช่างหลวง หรือ ฝีมือชาวบ้าน เป็นต้น
งานศิลปหัตถกรรมไทยสมัยโบราณ เป็นสมบัติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศ จึงทำให้มีการถ่ายทอดวิชากันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับขั้นตอนการเรียนศิลปกรรมในสมัยโบราณเพื่อถ่ายทอดให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ได้แก่
- สืบทอดวิชากันมาในตระกูล
- ฝึกให้เด็กมีความชำนาญ และเด็กก็จะค่อยๆเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น
- เด็กคนใดได้รับการฝึกฝนจนมีฝีมือดีโดดเด่น ก็จะได้รับชุบเลี้ยงจากทางราชการ
- ส่งเด็กไปเรียนวิชาจากต่างประเทศ แล้วนำมาประยุกต์ให้เป็นแบบไทย